มาตรการ Quick Win และมาตรการต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

มาตรการ Quick Win และมาตรการต่อเนื่อง แก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ

นางสาวรัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 สิงหาคม 2565 ว่า ครม.เห็นชอบแนวทางของมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจและมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) ตามที่คณะกรรมการเฉพาะกิจเพื่อบริหารสถานการณ์วิกฤตเศรษฐกิจเสนอ ซึ่งผลการประเมินเครื่องบ่งชี้วิกฤติเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ แบ่งออกเป็น 4 ด้าน กล่าวคือ

.

1.วิกฤตต้นทุนพลังงานและสินค้าโภคภัณฑ์ พบว่า ปริมาณน้ำมัน ก๊าซ ไฟฟ้า และสินค้าที่จำเป็นยังไม่ขาดแคลน แต่มีราคาสูงขึ้น และจากการดำเนินงานตามมาตรการช่วยเหลือของรัฐบาล ส่งผลให้กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงขาดสภาพคล่อง

.

2.วิกฤตการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตและการขาดแคลนวัตถุดิบด้านการเกษตร พบว่า วัตถุดิบด้านการเกษตร อาทิ ปุ๋ยและอาหารสัตว์ไม่ขาดแคลน แต่มีราคาเพิ่มขึ้น ส่งผลให้สินค้าเกษตรบางรายการ เช่น ข้าวนาปีและยางพารามีราคาขายที่ต่ำกว่าต้นทุน

.

3.วิกฤตการเงินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ SMEs พบว่า สัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อ GDP เริ่มลดลงตามการเพิ่มขึ้นของรายได้ แต่รายจ่ายครัวเรือนยังเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะในหมวดค่าโดยสาร ค่าน้ำมันเชื้อเพลิง ส่วน SMEs ในภาพรวมค่อยๆ ฟื้นตัว แต่ในบางสาขายังไม่กลับสู่ระดับปกติ

.

4.วิกฤติเชิงโครงสร้างเศรษฐกิจและการลดลงของขีดความสามารถในการแข่งขัน ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการรับรองวิกฤตเศรษฐกิจในอนาคต พบว่า ควรต้องเร่งสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่อง

.

สำหรับมาตรการระยะเร่งด่วน (Quick Win) เพื่อรองรับสถานการณ์ในระดับวิกฤตเศรษฐกิจ อาทิ

1.มาตรการขอความร่วมมือจากภาคเอกชนให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงที่มีการใช้ไฟฟ้าสูง (ตอนบ่ายและช่วงหัวค่ำ)

2.ลดการใช้ไฟฟ้าของหน่วยงานราชการ

3.เร่งรัดการบังคับใช้ร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการปฏิบัติงานนอกที่ตั้งของส่วนราชการ พ.ศ. ....

4.จัดจำหน่ายบัตรโดยสารรายเดือน

5.พิจารณาต่ออายุมาตรการบรรเทาภาระค่าครองชีพอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันแพง

6.โครงการบริหารจัดการปุ๋ย ประกอบด้วยการชดเชยราคาปุ๋ยให้เกษตรกร สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการให้สถาบันเกษตรกร

7.โครงการส่งเสริมการผลิตและใช้ปุ๋ยอินทรีย์และวัสดุอินทรีย์ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในสถานการณ์ปุ๋ยแพง

8.โครงการพักทรัพย์พักหนี้

9.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู)

10.มาตรการค้ำประกันสินเชื่อ SMEs

11.การบูรณาการฐานข้อมูลเกษตรกรในหลายมิติ เช่น ฐานข้อมูลทะเบียนเกษตรกรและฐานข้อมูลพื้นที่ทางการเกษตร ฐานข้อมูลหนี้เกษตรกร

12.การขยายวัตถุประสงค์ของมาตรการทางการเงินเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของผู้ประกอบธุรกิจภายใต้วงเงินจาก พ.ร.ก.ฟื้นฟูฯ

.

ส่วนมาตรการที่ต้องเร่งดำเนินการต่อเนื่อง (Follow-up Urgent Policy) อาทิ 1.ส่งเสริมการเดินทางด้วยระบบขนส่งสาธารณะ 2.ลดต้นทุนและปรับเปลี่ยนรูปแบบการขนส่งโดยมุ่งเน้นการขนส่งทางราง 3.ส่งเสริมการใช้วัตถุดิบที่มีอยู่ภายในประเทศอย่างเต็มประสิทธิภาพ 4.ศึกษาความคุ้มค่าในการร่วมลงทุนตั้งโรงงานผลิตปุ๋ยโพแทส 5.พัฒนาทักษะทางการเงินในทุกช่วงวัย 6.การดำเนินการของคณะกรรมการกำกับการแก้ไขหนี้สินของประชาชนรายย่อย 7.เร่งส่งเสริมการค้าออนไลน์ 8. การผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและหุ่นยนต์ 9.เจรจา Digital Economic Partnership กับสิงคโปร์ 10.ขยายความร่วมมือด้าน BCG เป็นต้น

.

นางสาวรัชดา กล่าวด้วยว่า ในช่วงที่ผ่านมารัฐบาลได้ดำเนินการมาตรการแก้ปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง เช่น 1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลที่ 35 บาทต่อลิตร (สิ้นสุด ก.ย.65) 2.ช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าสำหรับผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน (สิ้นสุด ส.ค.65) 3.มาตรการเสริมสภาพคล่องผ่านโครงการสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทยของ ธ.ก.ส. 4.การจัดมหกรรมไกล่เกลี่ยหนี้ 5. โครงการพักทรัพย์พักหนี้ 6.โครงการคนละครึ่ง 7.มาตรการสนับสนุนการให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบธุรกิจ (สินเชื่อฟื้นฟู) และ 8.การลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เป็นต้น


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar